การทาครีมกันแดด 2 ข้อนิ้วมือ มีที่มาจากไหน ?

การทาครีมกันแดดในปริมาณที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องผิวจากรังสี UV ที่เป็นอันตรายจากดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะในประเทศที่มีแสงแดดแรง อย่างประเทศไทยและความเข้มข้นของรังสี UV ในปัจจุบันที่มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อย ๆ แนวทางการใช้ครีมกันแดดที่เรียกว่า ” 2 ข้อนิ้วมือ” หรือ “2 Fingertip units” หรือเท่ากับการทาครีมกันแดดประมาณ 1 กรัม เป็นปริมาณที่เหมาะสมกับพื้นที่ผิวบริเวณผิวหน้าและลำคอ ซึ่งเป็นแนวทางที่แนะนำในการทาครีมกันแดดให้ได้ปริมาณที่เพียงพอ โดยปริมาณนี้ถูกศึกษาและทดลองขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ใช้ได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่จากรังสี UV ได้เต็มประสิทธิภาพ

 

ที่มาของ การทาครีมกันแดดบนผิวหน้าปริมาณ ” 2 ข้อนิ้วมือ”

การใช้ครีมกันแดดปริมาณ ” 2 ข้อนิ้วมือ” นั้นมีที่มาจากการใช้หน่วย Fingertip unit กับยาทาผิวหนังเฉพาะที่เช่น ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ซึงการใช้หน่วยเป็นข้อนิ้วนั้นจะทำให้ผู้ใช้หรือคนไข้เข้าใจและใช้งานง่ายขึ้น เพื่อให้ได้ปริมาณยาที่เหมาะสมตามโดสที่แพทย์กำหนด โดยไม่ให้ปริมาณน้อยหรือมากเกินไป ดังนั้นหน่วยข้อนิ้วมือจึงถูกนำมาใช้เป็นหน่วยในการใช้ปริมาณครีมกันแดด ร่วมกับกฎ Rule of Nines for burns  เพื่อให้ได้ปริมาณที่เหมาะสมต่อพื้นที่ในการใช้กันแดดในผิวหนังแต่ละส่วน และให้เกิดประสิทธิภาพในการกันแดดได้ดีที่สุด เพราะหลายคนมักทาครีมกันแดดน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันแสงแดดลดลง จากการศึกษาในงานวิจัยหลายงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าผู้ใช้ครีมกันแดดทาในปริมาณเพียง 0.5 -1.5 มก.ต่อ ตร.ซม. เท่านั้น ในขณะที่ปริมาณที่แนะนำจริง ๆ คือ 2 มก. ต่อ ตร.ซม. เพื่อให้ได้รับ SPF ใกล้เคียงตามที่ระบุบนฉลาก เพื่อให้ทาครีมกันแดดได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงมีการแนะนำการใช้ปริมาณ 2 ข้อนิ้วมือ โดยกำหนดให้ทาครีมกันแดดเทียบเท่ากับความยาวของสองข้อนิ้วมือ ซึ่งปริมาณนี้จะครอบคลุมผิวหน้าและลำคอให้ได้รับการปกป้องอย่างทั่วถึง

หลักการทาครีมกันแดดปริมาณ 2 ข้อนิ้ว

ปริมาณครีมกันแดดที่เหมาะสม: การทาครีมกันแดดให้มีความยาวเทียบเท่ากับสองข้อนิ้วมือจะช่วยให้ได้ปริมาณที่เพียงพอในการปกป้องผิวจากรังสี UV โดยควรทาครีมกันแดดหลังขั้นตอนบำรุงผิวอื่น ๆ และก่อนการแต่งหน้า

การทาซ้ำ : หากอยู่กลางแจ้ง ควรทาครีมกันแดดซ้ำทุกๆ 2-3 ชั่วโมงเพื่อให้แน่ใจว่าผิวได้รับการป้องกันอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากครีมกันแดดอาจสลายตัวหรือลดประสิทธิภาพเมื่อเจอแสงแดดหรือเหงื่อ

เหมาะสำหรับทุกสภาพผิว: วิธีนี้เหมาะสำหรับทุกสภาพผิวและสามารถปรับให้เหมาะกับผิวหน้าและลำตัวได้ตามต้องการ

 

เอกสารอ้างอิง

Bech-Thomsen, N., & Wulf, H. C. (2003). Sun protection habits and sun exposure among Caucasian outdoor working people in Denmark. Photodermatology, Photoimmunology & Photomedicine, 19(3), 156-161.

Diffey, B. L. (2001). Sunscreens and UVA protection: A major issue of minor importance. Photochemical & Photobiological Sciences, 69(6), 441-446.

Kim, S. M., Oh, B. H., Lee, Y. W., Choe, Y. B., & Ahn, K. J. (2010). The relation between the amount of sunscreen applied and the sun protection factor in Asian skin. Journal of the American Academy of Dermatology, 62(2), 218-222.

Wang, S. Q., et al. (2014). How much sunscreen should we use, and how often should we apply it? Journal of the American Academy of Dermatology, 70(4), 747-748.

Long, C. C., & Finlay, A. Y. (1991). The finger‐tip unit—a new practical measure. Clinical and experimental dermatology, 16(6), 444-447.

Taylor, S., & Diffey, B. (2002). Simple dosage guide for suncreams will help users. Bmj, 324(7352), 1526.